วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

ใบงานที่ 9-16

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ใบงานที่3

ใบงานที่2



"ชมพูภูคา" ดอกไม้ในช่วงแห่งความรัก

   ในช่วงเทศกาลวันแห่งความรักหรือที่เราเรียกกันว่าวันวาเลนไทน์ซึ่งตรงกับวันที่
๑๔ กุมภาพันธ์ หลายคนคิดว่าวันแห่งความเป็นเรื่องของของคนหนุ่มสาว เป็นเรื่องของการแต่งงาน แต่แท้จริงแล้วหากตีความเรื่องของความรักสามารถตีความได้หลากหลายรูปแบบหลายประเด็น แม้กระทั่งเรื่องของความรักในธรรมชาติ สิ่งที่จะเขียนถึงนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ ความรัก และธรรมชาติที่มาสอดคล้องต้องกันพอดีในช่วง เทศกาลแห่งความรักหรือเดือนแห่งความรัก
              หากจะกล่าวถึงดอกไม้ที่หลาย ๆ คนที่ใช้สื่อแห่งความรักหลายคนคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดอกกุหลาบ สิ เป็นตัวแทนสื่อความหมายที่ใช้กันมานาน หรือไม่เช่นนั้น
ก็ต้องเป็นดอกไม้ที่มีสีชมพูไม่ว่าจะเป็น ลิลลี่ คาร์เนชั่น และดอกไม้ที่มีสีชมพูต่าง ๆ
 ดูแล้วมีความรู้สึกอ่อนหวานสวยงาม ซึ่งที่จังหวัดน่านมีดอกไม้ที่สามารถเป็นตัวแทนหรือใช้เป็นสื่อความหมายเกี่ยวกับความรักได้เช่นกัน คือ ดอกไม้ที่ชื่อ ชมพูภูคา มีสีชมพูอมขาวสวยงามแปลกตา หรือสีจมออนซึ่งเป็นคำในภาษาเหนือ กำลังผลิดอกออกช่ออยู่ในขณะนี้ มารู้จักชมพูภูคาสักนิด
               ชมพูภูคา มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl. เป็นต้นไม้อยู่ในวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAE ชมพูภูคา เป็นพันธุ์ไม้หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ซึ่งปัจจุบันมีรายงานการค้นพบในโลกเพียงที่เดียวคือที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคาโดยเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเคยมีรายงานการสำรวจพบต้นชมพูภูคาทางตอนใต้ของประเทศจีนและทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม จากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบต้นไม้ชนิดนี้อีกเลย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ไปแล้ว จนในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ดร.ธวัชชัย สันติสุข นักพฤกษศาสตร์ ได้ค้นพบต้นชมพูภูคาอีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน

 ชมพูภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ ๑๕-๒๕ เมตร จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณป่าดงดิบ ตามไหล่เขาสูงชันที่มีความสูงตั้งแต่ ๑,๒๐๐ เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล และมีความชื้นของอากาศสูง มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีค่อนต่ำ สำหรับลักษณะทั่วไปของ "ต้นชมพูภูคา" จะมีเปลือกเรียบสีเทาใบประกอบแบบ ขนนกชั้นเดียวมีใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีขาว ส่วนดอกเมื่อบานจะมีลักษณะคล้ายรูประฆัง กลีบดอกด้านนอกมีสีชมพูจางขาว และกลีบดอกด้านในมีสีชมพูลายเส้นสีม่วง ชูช่อเป็นพวงใหญ่ จะออกดอกเบ่งบานระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม
                สถานที่สำหรับชมดอกชมพูภูคานั้นขณะนี้มี ๒ แห่งที่เดินทางสะดวก แห่งแรก อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้สอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแล้วกำลังผลิดอกบานอยู่หลายจุด จุดชมดอกไม้ที่แรกคือบริเวณข้างศาลเจ้าหลวงภูคา ริมถนน
ระหว่างอำเภอปัวและอำเภอบ่อเกลือ จุดที่สองบริเวณจุดชมวิว จุดที่สามหลังบ้านพักอุทยานฯหลังที่สอง จุดที่สี่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจุดชมดอกไม้แห่งที่ ๒ ๓ และ๔ อยู่ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จุดที่ห้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติก่อนถึงลาน
ดูดาวห่างจากถนนปัว-บ่อเกลือ ๕๐๐ เมตร
                  ยังมีสถานที่ให้ชมดอกชมพูภูคาอีกหนึ่งคือ สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งสถานีวิจัยฯได้นำต้นชมพูภูคามาทดลองปลูกไว้ ๕ ต้น เพื่อ
ทำการศึกษาวิจัย เรียกได้ว่ามาเที่ยวจังหวัดน่านหากนักท่องเที่ยวท่านใดท่องเที่ยวอยู่ในเขตอำเภอด้านเหนือของจังหวัดน่านแนะนำให้เดินทางไปที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ส่วนคนที่ท่องเที่ยวอยู่ทางด้านใต้ของจังหวัดน่านแนะนำให้เดินทางไปที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน สิ่งหนึ่งที่น่าสนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของดอกชมพูภูคา และเป็นที่ภาคภูมิใจของคนจังหวัดน่านเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
              ชมพูภูคา เป็นพืชหายากใกล้จะสูญพันธุ์ จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ตามแนวพระราชดำริ ประชาชนควรให้ความสนใจเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช เนื่องจากพืชพันธุ์ที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวในโลก ณ ขณะนี้
              วันแห่งความรักหรือเทศกาลแห่งความรักไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์จะมอบความรักด้วยการมอบดอกไม้ให้แก่ กันเท่านั้น หากแต่มนุษย์ควรให้ความรักต่อธรรมชาติ ด้วยการรักษาพืชพันธุ์ไม้ให้มีสภาพที่สมบูรณ์ ถือเป็นการแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องของความรัก
อีกรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนควรเอาใจใส่ต่อธรรมชาติ เพราะธรรมชาติได้แต่งเติมให้โลกใบนี้มีสีสันอันสวยงาม ขอให้ดอกชมพูภูคานี้เป็นดอกไม้สื่อแห่งความรักที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ เนื่องในวันแห่งความรักนี้ ขออวยพรให้ทุกคนมีความรักอันงดงามและมีความสุข
       ...............................................................................